กลับหน้าบทความอิเล็กทรอนิกส์ | SE-ED.com | Electronics Society | ThailandIndustry.com | Webboards |
ไตรแอกและเอสซีอาร์ ตอนที่ 1 : พลผดุง ผดุงกุล

ที่มา : วารสาร SEMICONDUCTER ฉบับที่ 91 เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2532

หน้าแรก
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของ เอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟตรง
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของ เอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟสลับ
ทฤษฎีพื้นฐานของไตรแอก
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของ ไตรแอก
การควบคุมกำลังไฟแบบเฟส ทริกเกอร
สัญญาณรบกวนความถี่วิทยุ
เทคนิคการใช้จุดตัดศูนย์





ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของเอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟตรง

เอสซีอาร์นี้ สามารถนำไปใช้ในการควบคุมระบบไฟได้ทั้งแบบไฟสลับและไฟตรง ก่อนอื่นเราจะมาดูกันในตัวอย่างง่าย ๆ ที่ควบคุมไฟตรงมีอยู่ 2 วิธี ในการใช้งานเอสซีอาร์ เพื่อการควบคุมการจ่ายไฟให้แก่โหลด โดยใช้สวิตช์กดเป็นตัวควบคุม ดังแสดงไว้ในรูปที่ 2 โหลดในที่นี้เป็นหลอดไฟ 12 โวลต์ ทั้วไป จากวงจรทั้งสองนี้ เอสซีอาร์จะเริ่มทำงานเมื่อสวิตช์ S1 ถูกกดลง (กดแล้วปล่อย) ดังนั้น จะเป็นการป้อนกระแสให้แก่เกตโดยผ่าน R1 เพื่อทำให้เอสซีอาร์เริ่มทำงาน ทั้ง สองวงจรนี้ มีการต่อขาเกตเข้ากับแคโทด โดยผ่าน R2 เพื่อปรับปรุงให้วงจรมีความเสถียรมากขึ้น

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างการใช้งานของเอสซีอาร์ โดยมีสวิตช์เปิดและแยกกัน

เนื่องจากเมื่อเอสซีอาร์เริ่มทำงานแล้ว ทางเดียวเท่านั้นที่จะหยุดการทำงานลงได้ ก็โดยการลดค่ากระแสแอโนดให้ต่ำกว่าค่า Ih ของมัน แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็พอ ดังนั้น จากรูปที่ 2 ก. เอสซีอาร์จะหยุดการทำงานก็ต่อเมื่อสวิตช์ S2 ถูกเปิดวงจรออกชั่วขณะหนึ่ง ส่วนในรูปที่ 2 ข. สามารถทำได้โดยปิดวงจรสวิตช์ S2 ซึ่งเป็นการทำให้แอโนดและแคโทดถูกต่อเข้าด้วยกันในชั่วขณะหนนึ่ง ก็จะทำให้เอสซีอาร์หยุดการทำงานได้เช่นกัน

รูปที่ 3 การหยุดการทำงานของเอสซีอาร์โดยใช้ตัวเก็บประจุ C1

วงจรในรูปที่ 3 ได้แสดงถึงอีกวิธีหนึ่ง ที่จะทำให้เอสซีอาร์หยุดทำงานลงได้ ตัวเก็บประจุ C1 จะถูกประจุให้มีแรงดันคร่อมตัวมัน มีค่าเท่ากับแรงดันที่ให้ โดยกระแสที่ผ่านความต้านทาน R3 และเมื่อเวลาต่อมาสวิตช์ S2 ถูกเปิดวงจรลง ซึ่งจะเป็นการดึงแรงดันที่ขั้วบวกของ C1 ให้เป็นกราวด์ เมื่อเป็นเช่นนั้น อีกขั้วหนึ่งของ C1 ก็จะมีแรงดันเป็นลบในทันที และขั้วด้านนี้ได้ถูกต่ออยู่กับขาแอโนดของเอสซีอาร์ จึงทำให้แรงดันที่ขาแอโนดเป็นลบในชั่วขณะหนึ่งจนกว่า C1 จะคายประจุออกหมด ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเป็นการไบแอสกลับให้แก่เอสซีอาร์ ทำให้เอสซีอาร์นี้หยุดทำงานลงได้ ช่วงเวลาที่มีการไบแอสกลับจะประมาณ 2 - 3 x 10 - 6 วินาที ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการหยุดทำงานขึ้นได้แต่ข้อควรระวังคือ C1 ที่ใช้นั้นจะต้องเป็นตัวเก็บประจุแบบที่ไม่มีขั้วเท่านั้น

รูปที่ 4 วงจรที่ดัดแปลงจากรูปที่ 3 โดยใช้ SCR2 แทนตำแหน่งสวิตช์ S2

การออกแบบวงจรที่ใช้ตัวเก็บประจุเป็นตัวช่วยในการหยุดการทำงานของเอสซีอาร์นี้ สามาถทำได้อีกวิธีหนึ่งดังแสดงวงจรไว้ในรูปที่ 4 ขอให้สังเกตว่า ใช้ SCR2 แทนสวิตช์ S2 เมื่อเทียบกับในรูปที่ 3 โดย SCR1 จะหยุดการทำงานในทันที ที่ SCR2 เริ่มทำงานโดยใช้สวิตช์ S2 และ SCR2 นี้จะหยุดทำงานหลังจากที่สวิตช์ S2 ถูกปล่อยออก เนื่องจากว่ากระแสแอโนดที่ให้แก่ SCR2 โดยผ่าน R3 นั้นมีค่าต่ำกว่ากระแสโฮลดิ้งของมัน

รูปที่ 5 วงจรฟลิปฟลอป โดยใช้เอสซีอาร์

ในรูปที่ 5 เป็นการดัดแปลงวงจรมาจากรูปที่ 4 โดยให้ทำหน้าที่เป็นวงจรฟลิปฟลอปในการขับหลอดไฟ 2 ดวง โดยมีการทำงานดังนี้ สมมติว่า SCR1 กำลังทำงานอยู่ SCR2 จะไม่ทำงาน ดังนั้น C1 จะถูกประจุจนเต็มโดยผ่านหลอดไฟ L2 ซึ่งต่ออยู่กับไฟบวก

สถานะของการทำงานของวงจรจะถูกเปลี่ยนไปเมื่อสวิตช์ S2 ถูกกดลงโดย SCR2 จะทำงานส่วน SCR1 จะหยุดทำงาน เนื่องจากผลของตัวเก็บประจุที่ต่ออยู่ที่ขาแอโนดนั่นเอง ในขณะเดียวกัน C1 จะถูกประจุใหม่ให้เต็มโดยผ่านหลอดไฟ L1 และเมื่อกดสวิตช์ S1 การทำงานจะถูกกลับมาเป็นเดิมอีกโดย SCR2 จะหยุดทำงาน เนื่องจากผลของ C1 เช่นกัน

รูปที่ 6 การใช้เอสซีอาร์ ในการควบคุมการทำงานของบัซเซอร์ โดยจะทำงานเฉพาะในช่วงที่กดสวิตช์ S1 เท่านั้น

นอกจาการใช้เอสซีอาร์ในการควบคุมทำงานของโหลดที่เป็นหลอดไฟดังตัวอย่างที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นเรายังสามารถนำมาใช้ ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ ประเภทอื่น เช่นดังตัวอย่างในรูปที่ 6 โดยโหลดในที่นี้จะเปลี่ยนเป็นบัซเซอร์ หรืออาจจะเป็นวงจรอะไรก็ได้ ที่มีลักษณะของการตัดการทำงานภายในตัวเองอยู่ตลอดเวลาเช่นกระดิ่งไฟฟ้า เป็นต้น วงจรเหล่านี้จะทำงานเฉพาะในช่วงที่มีการกดสวิตช์ S1 เท่านั้น

จุดสังเกตอยู่ที่ว่าโหลดประเภทนี้จะทำหน้าที่เหมือนกับมีสวิตช์ที่มีการเปิด / ปิดวงจรให้ตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาดังนั้น เมื่อต่อโหลดประเภทนี้ลงไปในวงจรดังรูปที่ 6 แล้ว วงจรจะไม่สามารถคงสภาพการทำงานเรื่อย ๆ ไปได้อย่างปกติทั่วไป โดยจะมีการทำงานก็เฉพาะในช่วงที่มีการกดสวิตช์ S1 เท่านั้น และเนื่องจากโหลดชนิดนี้มีลักษณะ เป็นตัวเหนี่ยวนำไฟฟ้า ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องต่อไดโอด D1 คร่อมตัวมันอยู่ เพื่อลดแรงดันย้อนกลับที่เกิดขึ้น

รูปที่ 7 วงจรที่ดัดแปลงมาจากรูปที่ 6 ให้สามารถคงสภาพการทำงานอยู่ได้ โดยใช้กระแสที่ไหลผ่านความต้านทาน R3

วงจรนี้สามารถดัดแปลงให้มีความสามารถในการคงสภาพการทำงานได้เหมือนเดิม โดยต่อความต้านทาน 470 โอห์ม ขนานกับโหลดดังในวงจรรูปที่ 7 ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ กระแสแอโนดไม่ได้หยุดไหล ในขณะที่มีการตัดการทำงานภายในของโหลดประเภทนี้ แต่จะมีปริมาณกระแสขนาดหนึ่ง ที่ไหลต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาโดยผ่านความต้านทาน R3 ที่ใส่เพิ่มลงไป ดังนั้น เมื่อกดสวิตช์ S1 แล้ว วงจรจะคงสภาพการทำงานอยู่เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะกดสวิตช์ S2 ซึ่งเป็ฯการเปิดวงจรของส่วนกระแสที่ไหลผ่าน R3 การทำงานจึงหยุดลงได้

รูปที่ 8 วงจรที่แสดงให้เห็นถึงผลของ rate - effect ที่ทำให้เอสซีอาร์ เกิดการทำงานขึ้นได้เอง โดยไม่มีสัญญาณทริกที่ขาเกต

วงจรสุดท้ายของการยกตัวอย่างใช้เอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟตรงได้แสดงไว้ในรูปที่ 8 เป็นวงจรที่แสดงถึงผลของ rate - effect ที่ทำให้เอสซีอาร์เกิดการทำงานขึ้นได้เอง ในขณะที่ไม่มีการป้อนสัญญาณทริกเกอร์ให้แก่เกต

ในวงจรนี้กำหนดให้เอสซีอาร์ทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายให้แก่โหลดที่เป็นหลอดไฟขนาด 3 โวลต์ที่ต่ออยู่ที่ขาแอโนด โดยมีแหล่งจ่ายแรงดันขนาด 4.5 โวลต์ ผ่านสวิตช์ S1

ขอให้สังเกตว่าแหล่งจ่ายนี้ได้ถูกกำหนดให้จ่ายกระแสให้แก่กระดิ่งไฟฟ้าขนาด 4.5 โวลต์ด้วย โดยผ่านสวิตช์ S3 กระดิ่งไฟฟ้านี้เป็นตัวสร้างหรือทำให้เกิดทรานเซี้ยนต์ ขึ้นในสายของแหล่งจ่ายซึ่งก็จะส่งผลไปยังแอโนดของเอสซีอาร์ด้วย ผลของทรานเซี้ยนต์ที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลทำให้เอสซีอาร์เกิดการนำกระแสขึ้นได้แม้ในขณะที่ไม่มีสัญญาณทริกให้แก่เกต

ทรานเชี้ยนต์ที่ทำให้เกิด rate - effect นี้จะต้องมีค่าอัตราการเพิ่มของแรงดัน (rate - of - rise value) ประมาณอย่างน้อย 20 โวลต์ / ไมโครวินาทีการแก้ความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นนี้ สามารถใช้ R2 และ C1 ซึ่งต่ออยู่ในวงจรดังรูป โดยมีสวิตช์ S2 ควบคุม

การแสดงให้เห็นถึงผลของ rate - effect นี้สามารถทำได้โดยเปิดวงจรสวิตช์ S2 ปิดวงจรสวิตช์ S1 จะเห็นว่าเอสซีอาร์จะยังไม่ทำงาน แต่เมื่อกดสวิตช์ S3 เพื่อจ่ายกระแสให้แก่กระดิ่ง เมื่อกระดิ่งไฟฟ้าทำงานผลก็คือ เอสซีอาร์จะเริ่มทำงานด้วย และหลอดไฟจะติดสว่าง ซึ่งเป็นผลเนื่องจากทรานเซี้นนต์ที่สามารถทริกให้เอสซีอาร์ เกิดการทำงานและจะคงสภาพการทำงานอยู่เช่นนี้ แม้จะปล่อยสวิตช์ S3 แล้วก็ตาม

ต่อไปขอให้ลองดูอีกครั้งหนึ่งโดยปิดสวิตช์ S2 และ S1 แล้วกดสวิตช์ S3 เพื่อให้กระดิ่งไฟฟ้าทำงานขึ้นนั้น จะเห็นได้ว่า เอสซีอาร์ไม่เกิดการทำงานขึ้นอย่างใน การทดสอบครั้งแรก เนื่องจากผลของความต้านทานของโหลด คือหลอดไฟรวมกับ R2 และ C1 จะทำหน้าที่เป็นวงจรลดอัตราการเพิ่มของแรงดันที่แอโนด เนื่องจากทรานเซี้ยนต์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นการป้องกันไม่ให้เอสซีอาร์เกิดการทำงานผิดพลาด

 


สงวนลิขสิทธิ์
พ.ศ. 2542-2553 โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
Copyright © 1999-2010 by SE-EDUCATION Public Company Limited. All rights reserved.