กลับหน้าบทความอิเล็กทรอนิกส์ | SE-ED.com | Electronics Society | ThailandIndustry.com | Webboards |
ไตรแอกและเอสซีอาร์ ตอนที่ 1 : พลผดุง ผดุงกุล

ที่มา : วารสาร SEMICONDUCTER ฉบับที่ 91 เดือน มีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2532

หน้าแรก
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐาน ของ เอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟตรง
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของ เอสซีอาร์ ในการควบคุมระบบไฟสลับ
ทฤษฎีพื้นฐานของไตรแอก
ตัวอย่างการใช้งานพื้นฐานของ ไตรแอก
การควบคุมกำลังไฟแบบเฟส ทริกเกอร
สัญญาณรบกวนความถี่วิทยุ
เทคนิคการใช้จุดตัดศูนย์




ทฤษฎีพื้นฐานของไตรแอก

ลักษณะโครงสร้างของไตรแอกนี้เหมือนกับการนำเอาเอสซีอาร์ 2 ตัวมาต่อขนานกันในลักษณะกลับขั้ว ส่วนขาเกตต่อร่วมเข้าด้วยกัน ดังนั้นไตรแอกจะทำหน้าที่เป็นตัวควบคุม ระบบไฟได้ทั้งแบบไฟตรง และไฟสลับ นั้นคือความสามารถในการนำกระแสได้ทั้งสองทิศทาง โดยการทริกที่เกตนั้นก็สามารถกระทำได้ทั้งสองทิศทางเช่นกัน

รูปที่ 12 ก. สัญญลักษณ์ของไตรแอก 12 ข. การใช้งานพื้นฐาน

ในรูปที่ 12 ก และ 12 ข แสดงถึงสัญลักษณ์และการใช้งานแบบพื้นฐานของไตรแอก โดยทำหน้าที่คล้ายกับสวิตช์ของแหล่งจ่ายไฟสลับ โหลดจะถูกต่ออยู่ที่ขั้วด้านหนึ่ง ของไตรแอก ส่วนสวิตช์ S1 ใช้ป้อนสัญญาณทริกให้เกต ต่อไปจะขอกล่าวถึงคุณสมบัติพื้นฐานเป็นข้อของไตรแอกซึ่งมีดังนี้

1. โดยปกติ ถ้าไม่มีสัญญาณทริกที่เกต ไตรแอกจะไม่ทำงานโดยจะมีลักษณะเหมือนกับสวิตช์ที่ถูกเปิดวงจร

2. ถ้าในกรณีที่ MT2 และ MT1 ถูกป้อนด้วยแรงดันบวกและลบตามลำดับไตรแอกจะถูกกระตุ้นให้ทำงานได้โดยการป้อนสัญญาณพัลส์เพียงสั้น ๆ ที่เกตของมัน ไตรแอกใช้เวลาเพียง 2 - 3 x 10 - 6 วินาทีเท่านั้นในการทำเริ่มทำงานในขณะที่ไตรแอกทำงานนั้น จะมีแรงดันตกคร่อมตัวมัน มีค่าประมาณ 1 หรือ 2 โวลต์ เท่านั้น และก็เช่นกันคือเมื่อไตรแอกเริ่มทำงานแล้ว ก็จะสามารถคงสภาพการทำงานอยู่เช่นนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีกระแสไหลผ่านตัวมันอย่างต่อเนื่อง

3. หลังจากที่ไตรแอกคงสภาพการทำงานอยู่นั้น ทางเดียวที่จะหยุดการทำงานลงได้ ก็โดยการลดปริมาณกระแสที่ไหลผ่านตัวมันลง ให้มีค่าต่ำกว่ากระแสโฮลดิ้งของมัน ในกรณีที่ใช้ไตรแอกในการจ่ายกระแส AC การหยุดทำงานจะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เมื่อแรงดันของไฟสลับเข้าใกล้จุดตัดศูนย์ที่เกิดขึ้น ทุก ๆ ครึ่งคลื่น นั่นคือกระแสจะลดลงเป็นศูนย์

4. ไตรแอกถูกกระตุ้นให้ทำงานได้ ทั้งสัญญาณแบบบวกและลบที่ป้อนให้แก่ขาเกต โดยไม่คำนึงถึงขั้วที่ต่ออยู่ที่ MT1 และ MT2 ดังนั้น การทำงานของไตรแอกนี้จะมีอยู่4 โหมดเมื่อเปรียบเทียบกับขั้วแรงดันที่ป้อนให้แก่ขาต่าง ๆ ของมัน ข้อแตกต่างกันเล็กน้อยของการทำงานในโหมดต่าง ๆ คือในกรณีของโหมดที่ขั้วแรงดันที่ให้แก่ขา MT2 และเกตเหมือนกัน (ทั้งบวกและลบ) จะทำให้มีค่าความไวที่เกตสูงขึ้น

5. ไตรแอกสามารถทนการกระชากของกระแสได้สูง เช่นโดยปกติสำหรับไตรแอกที่ทนกระแสปกติได้ 10 แอมแปร์ (rms) สามารถทนการกระชากของกระแสในช่วงหนึ่ง คาบเวลาของไฟ 60 เฮิรตซ์ได้สูงถึง 100 แอมแปร์ เป็นต้น

ตารางที่ 2 แสดงคุณสมบัติที่สำคัญของไตรแอกที่นิยมใช้

ในตารางที่ 2 แสดงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญของไตรแอกที่นิยมใช้กันมาก จากคุณสมบัตินี้จะช่วยให้เลือกใช้ไตรแอกได้เหมาะกับงานที่ต้องการต่อไปจะได้มาดูกัน ถึงการใช้งานอย่างง่าย ๆ ของไตรแอก

 


สงวนลิขสิทธิ์
พ.ศ. 2542-2553 โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
Copyright © 1999-2010 by SE-EDUCATION Public Company Limited. All rights reserved.